ครูบาศรีวิชัย ! นักบุญแห่งล้านนา ศรัทธานิรันดร์ : ตอนจบ


ครูบาศรีวิชัยในช่วงที่กำลัง
ตรวจตรางานก่อสร้างทางขึ้น
วัดพระธาตุดอยสุเทพ

เข้ากรุงเทพ

เป็นครั้งแรกในชีวิต..

วันที่ครูบาศรีวิชัยเดินทาง
ออกจากวัดดอนศรีไชยนั้น

มีประชาชนจำนวนมากมาคอย
ส่งท่านอยู่สองฟากถนนท่าแพ 
ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นชาวเมือง
เชียงใหม่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ยังจำ
ได้ติดตานั่นคือ..

ทางการจัดกำลังตำรวจแน่นหนา
เพื่อควบคุมตัวครูบาศรีวิชัยราวกับ
นักโทษคดีในอุกฉกรรจ์ ทั้งที่จริง
แล้วท่านเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเท่านั้น.!

พฤษภาคม พ.ศ. 2463

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ขณะที่ครูบา
ศรีวิชัยเข้าพำนักอยู่ที่..

วัดเบญจมบพิตรฯ 

เพื่อรอการพิจารณาอธิกรณ์ 
มีชาวเหนือที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
มาทำบุญถวายปัจจัยไทยธรรมกับ
ท่านตลอดเวลา

แต่ท่านเองก็ยังคงประพฤติปฏิบัติ
ตนตามธรรมชาติที่เคยเป็นคือสงบ 
สำรวมอยุ่ในธรรมวินัยทุกประการ
เพราะท่านระลึกอยู่ว่าตัวท่านเป็น
เพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่งเท่านั้น.!


มิถุนายน พ.ศ.2463

การไต่สวนอธิกรณ์ครูบาศรีวิชัย
กลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นใน
ชั่วข้ามคืน เพราะหนังสือพิมพ์
รายวันที่ขายดีที่สุดในสมัยนั้น
เป็นเหตุ..


" บางกอกไทม์ "

เสนอเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย
โดยละเอียด อีกทั้งยังวิเคราะห์
สาเหตุที่ทำให้ท่านต้องอธิกรณ์ 
แถมด้วยเรื่องคำเล่าลือเกี่ยวกับ
คุณวิเศษต่างๆ

เช่น การเดินบนผิวน้ำโดยไม่จม
จนกลายเป็น Talk of the town
สนั่นเมืองบางกอก

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชได้ทอด
พระเนตรข่าวดังกล่าวแล้วจึงทรง
มีหนังสือถึงคณะกรรมการไต่สวน
ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งขึ้นมาเมื่อ
ก่อนหน้านี้

ทรงย้ำเตือนให้คณะกรรมการ
ร่วมกันพิจารณาไต่สวนกรณีนี้
อย่างรอบคอบที่สุด

เป็นเวลากว่า 2 เดือนเศษ..

กระบวนการไต่สวนก็เสร็จสิ้นลง
ครูบาศรีวิชัยพ้นความผิดจากข้อหา
อธกรณ์ทั้งปวง และมีสิทธิ์กลับไป
จำพรรษาที่วัดบ้านปาง 

แต่มีข้อแม้ว่า..
ท่านจะต้องรับตำแหน่งเจ้าอาวาส
วัดบ้านปาง หรือวัดอื่นที่ท่านต้องการ
แต่ห้ามไม่ให้แต่งตั้งใคร มาเป็นตัวแทน
โดยตัวท่านไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ 
หากมีข้อผิดพลาดต่างๆ เกิดขึ้น.!


กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อำลากรุงเทพฯ ไปสู่ชนบท
บ้านเกิดของท่าน

วันเดินทางกลับ..

สมเด็จพระสังฆราชได้พระราชทาน
เงิน 60 บาทเป็นค่าใช้จ่ายในการ
เดินทางกลับเมืองลำพูนนับว่าเป็น
พระเมตตาอย่างยิ่ง

ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราช
ทรงมีต่อครูบาศรีวิชัย 

และคืนวันนั้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
มีชาวเหนือจำนวนมากมาส่งท่านที่
สถานีรถไฟ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มยินดี 

นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองบางกอก
ได้เห็นว่า " ชาวเหนือ " นั้นมีความ
ศรัทธาเลื่อมใสต่อครูบาศรีวิชัย
มากเพียงใด.!

เมื่อมาถึงเมืองลำพูนทันทีที่ก้าวลง
จากรถไฟนั่นเอง สานุศิษย์ที่มารอ
รับท่านพร้อมด้วยภิกษุ สามเณร
จากวัดบ้านปาง

ต่างก็พากันโห่ร้องต้อนรับท่าน
ด้วยความยินดีเหลือประมาณ


ชาวเหนือตั้งสมญา

" ต๋นบุญแห่งลานนา "

เมื่อได้คืนกลับมาสู่ภาคเหนือ
อีกครั้งในคราวนี้ครูบาศรีวิชัย
ได้เปลี่ยนแนวชีวิตของท่านใหม่ 

คือแแต่เดิมท่านจะบำเพ็ญ
วิปัสสนากรรมฐานปลีกวิเวก

บัดนี้ท่านกลับออกเดินธุดงค์

ไปยังท้องถิ่นต่างๆ ในภาค
เหนือเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์
วัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม

" ซึ่งท่านใช้เวลาตลอดชีวิต
ทุ่มเทเพื่อการสาธารณประโยชน์ "


สร้างวัด และพระเจดีย์

กว่า 200 แห่งทั่วล้านนา

รวมแล้วพบ..
ว่างานบูรณปฏิสังขรณ์
วัดวาอาราม และพระเจดีย์
ในจังหวัดต่างๆ ทั่วเขตล้านนา
ของครูบาศรีวิชัยมีกว่า 200 แห่ง
และสร้างคัมภีร์ต่างๆ อีก
ไม่น้อยกว่า 3,000 ผูก


" บาตรใบเดียว " ของครูบาศรีวิชัย
เล็กเกินไปที่จะรองรับศรัทธา
ของชาวเมือง

" บาตรใบเดียว "

และศรัทธาเปี่ยมล้น

การก่อสร้างต้องใช้ทั้งเงินและ
แรงงานอย่างมหาศาลดังเช่น
เมื่อครั้งที่ท่านไปขออนุญาต
เจ้าคณะเมืองลำพูนเพื่อเข้าไป
บูรณะวัดพระธาตุหริภุญไชย
ปูชนียสถานเก่าแก่ที่สุดของ
ล้านนา

ที่ชำรุดทรุดโทรมไปมาก 
หนำซ้ำยังโดนพายุใหญ่พัด
กระหน่ำจนยอดฉัตรบนพระ
เจดีย์เสียหาย

ท่านเจ้าคณะจังหวัดได้กล่าวกับ
ครูบาศรีวิชัยว่า

" วัดพระธาตุหริภุญชัยนั้น
ทรุดโทรมมากทั่วพระอาราม 
ครูบาศรีวิชัยจะนำเงินที่ไหน
มาบูรณะได้ "

 ครูบาศรีวิชัยตอบว่า..

" ตัวท่านเอง ไม่มีเงินทองจะนำ
มาบูรณะพระธาตุหริภุญชัย
หรอกท่านมีแต่บาตรใบเดียว
เท่านั้น

แต่ท่านเชื่อว่าศรัทธาของชาว
เมืองลำพูน และเมืองใกล้เคียง
จะหลั่งไหลมาเต็มบาตรของท่าน "

ทุกครั้งที่ครูบาศรีวิชัยจะไป
ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหรือ
ปูชนียสถานแห่งใดก็ตามท่าน
จะต้องขอ..


"อธิษฐาน" 

ก่อนทุกคราวไปโดยท่าน
บอกกับชาวบ้านว่าต้องมี
เทวดามาช่วยจึงจะสำเร็จได้

แล้วก็ปรากฏว่า..

" บาตรเพียงใบเดียว "

ของครูบาศรีวิชัยเล็กเกินไปที่จะ
รองรับศรัทธา และน้ำใจของชาว
เมืองเพราะนอกจากชาวเมืองที่นำ
เงิน ทอง มาบริจาคเพื่อบูรณะวัด
พระธาตุหริภุญชัยแล้ว

ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมาก
อาสาตัวเองมาทำงานโดย
มิได้คิดค่าจ้างจำนวนร้อยคน

ครูบาศรีวิชัยต้องตั้ง โรงครัวหุงหา
อาหารเลี้ยงคนงาน โดยมีแม่ครัว
ชาวพื้นเมืองมาช่วยปรุงแต่งกับข้าว
กับปลาเลี้ยงศรัทธาญาติโยมที่มา
ช่วยกันบูรณะวัดอย่างไม่เห็นแก่
เหน็ดเหนื่อย

นี่คือสิ่งพิสูจน์บุญญาบารมี
ของครูบาศรีวิชัยอย่างแท้จริง.!

อธิกรณ์ช่วงสุดท้ายของชีวิต
พ.ศ. 2478 - 2479

เมษายน พ.ศ. 2478

ครูบาศรีวิชัยก็ได้สร้างผลงาน
ชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน
ชิ้นหนึ่งคือการสร้างถนนผ่านป่า
อันทุรกันดารขึ้นสู่พระบรมธาตุ
ดอยสุเทพ

ปูชนียสถานแห่งสำคัญที่สุด
ของเมืองเชียงใหม่

ใช้เวลาในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
เพียง 5 เดือน 22 วัน เป็นระยะทาง
11 กิโลเมตร กับอีก 530 เมตร

ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยเลื่องลือ
ไปทั่วแผ่นดินล้านนาที่ท่านสามารถ
ทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้ในระยะเวลา
อันรวดเร็วเป็นอัศจรรย์

โดยไม่ต้องใช้
งบประมาณแผ่นดินเลย.!
4 พ.ย. 2477 ลงจอบแรก
เพื่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ  
30 เม.ย. 2478 รถยนต์คันแรก
ที่ขึ้นดอยสุเทพได้


ในระหว่างการก่อสร้างทาง
ขึ้นดอยสุเทพ ครูบาศรีวิชัย
มีดำริว่าควรมีการ

" สร้างสำนักสงฆ์ "

จากเชิงเขาให้เรียงรายขึ้นไปตามถนน
ขึ้นดอยสุเทพจนถึงวัดพระบรมธาตุ
ดอยสุเทพ เพราะครูบาศรีวิชัยประสงค์
จะบำรุงรักษาถนนไม่ให้เป็น "ทางเปลี่ยว" 
อีกทั้งจะได้มีผู้ดูแลรักษาสืบไป 

เพราะเมื่อมีวัดไปถึงที่ไหน
ย่อมมีผู้คนไปที่นั่น

เพราะสำนักสงฆ์ที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้น
ระหว่างทางนี้เองเป็นสาเหตุให้ครูบา
ศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งสำคัญ

จากสงฆ์ของนครเชียงใหม่
หลังจากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ
เสร็จสมบูรณ์แล้วเพียง 10 วัน.!
เปิดใช้ถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ
เป็นปฐมฤกษ์ 30 เม.ย. 2478
ครูบาศรีวิชัยนั่งด้านหลังมีร่มกั้น
เจ้าแก้วนวรัฐนั่งด้านหน้าเสื้อสีขาว



ความผิดของ

ครูบาศรีวิชัยในครั้งนี้


  1.    ฝ่าฝืนการปกครอง
คณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ.ลักษณะ
ปกครองคณะสงฆ์

  2.   ตั้งตัวเป็นผู้ปกครองหัววัด
เจ้าอาวาสของวัดต่างๆ เอง

  3.   ก่อสร้างบูรณะสถานที่ต่างๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาต

คณะสงฆ์เมืองเชียงใหม่ แต่งตั้ง
คณะสอบสวนครูบาศรีวิชัยในขณะ
ที่ท่านยังจำพรรษาอยู่วัดพระสิงห์

ครูบาศรีวิชัย ปฏิเสธทุกข้อ
ว่าท่านไม่ได้ทำเช่นนั้น

ในขณะชาวเมืองเชียงใหม่
และสานุศิษย์เป็นจำนวนมาก
เมื่อทราบข่าวว่าครูบาศรีวิชัย
กำลังจะถูกสอบสวน 

ต่างก็มารอฟังข่าวอยู่ที่
วัดสิงห์ด้วยความห่วงใย

เกรงว่าอาจารย์ของตนจะถูก
กลั่นแกล้งทำร้าย จึงจัดเวรยาม
เฝ้าวัดพระสิงห์ทั้งวันทั้งคืน
วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่


คนมาชุมนุมนับหมื่น

จัดเวรยามเฝ้ารักษา

ความปลอดภัย.!

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ทาง
เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
เห็นว่าเกินกำลังที่จะสอบสวน
จึงทำหนังสือแจ้งเรื่องอธิกรณ์

พร้อมกับส่งครูบาศรีวิชัยลงไป
ให้มหาเถรสมาคมในกรุงเทพฯ
สอบสวนเอาความผิดต่อไป

เมื่อมีคำสั่งให้ครูบาศรีวิชัยเข้าไปรับ
การอบรมและ สอบสวนที่กรุงเทพฯ
ข่าวนี้เสมือนหนึ่งลูกระเบิดตกลงไป
ในกลางใจเมืองเชียงใหม่ 

คนเมืองจำนวนนับหมื่น.!
ต่างพากันไปหาครูบาศรีวิชัย
ที่วัดพระสิงห์แบบมืดฟ้ามัวดิน 
สร้างความชุลมุนไปทั่วนคร
เชียงใหม่ทีเลยเดียว


พฤศจิกายน พ.ศ. 2478

ครูบาศรีวิชัยเดินทางเข้า
กรุงเทพที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ 
มีประชาชนนับหมื่นๆ คน
ไปส่งท่านที่สถานีรถไฟ
และมีสานุศิษย์ติดตามมา
ด้วยไม่น้อย

แม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะไปถึง
กรุงเทพแล้วแต่สานุศิษย์ในเมือง
เชียงใหม่ ลำพูนก็ยังติดตาม
ข่าวอย่างใกล้ชิด ทำทีว่าจะเกิด
เหตุวุ่นวายอยู่หลายครั้ง 

เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ 
ทำให้ให้ทางราชการต้องประกาศ
แถลงการณ์เกี่ยวกับการสอบสวน
ครูบาศรีวิชัยให้ประชาชนรับทราบ
เป็นระยะๆ

อธิกรณ์ครั้งนี้ได้ดำเนินมาจน
กระทั่ง พ.ศ. 2479 ครูบาศรีวิชัย
ได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่า
จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ
ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์
ทุกประการ

ท่านจึงได้รับอนุญาตให้เดินทาง
กลับลำพูนเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2479
รวมเวลาที่ต้องสอบสวนและอบรม
อยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นนานถึง
6 เดือน 17 วัน

กรณีความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัย
กับคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองได้ดำเนินมา
ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่
พ.ศ. 2451 เป็นต้นมา ตราบกระทั่งวาระ
สุดท้ายในชีวิตของครูบาศรีวิชัย

แต่ในช่วงเวลานั้นครูบาศรีวิชัย
ก็ยังคงดำเนินการช่วยเหลือ
ประชาชน เป็นศูนย์รวมศรัทธา
เป็นที่พึ่งทางใจ

และดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์
วัดวาอารามต่างๆ และงานที่เป็น
สาธารณะประโยชน์
ตามคำอาราธนาอยู่เรื่อยมา

ผลงานสุดท้ายของท่านที่ยัง
ไม่แล้วเสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิต
อยู่ก็คือ " สะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ " 
ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเพื่อเชื่อมอำเภอ
หางดง จ.เชียงใหม่กับ อำเภอเมือง
จังหวัดลำพูน


ภาพในช่วงที่ท่านมารักษา
อาการอาพาธที่วัดจามเทวี (ซ้าย)
ภาพที่วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ในงานบูรณะและฉลองสมโภช(ขวา)

อยู่เพื่อ " นั่งหนัก "

เป็นองค์ประธานงานบุญ

ด้วยเหตุที่ท่านทุ่มเทอุทิศตน
เป็นประธานในการปฏิสังขรณ์
วัดวาอารามกว่า 200 แห่ง
ครูบาศรีวิชัยก็จะรับ..


"นั่งหนัก"

คือ เป็นองค์ประธานอยู่ประจำ
ในงานนั้นคอยให้ศีลให้พรแก่
ศรัทธาสาธุชนที่มาร่วมทำบุญ 

โดยท่านไม่สนใจเรื่องเงินทอง
แต่จะมีคณะกรรมการช่วยกัน
รวบรวมเงินไปเป็นค่าใช้จ่าย
ในการก่อสร้าง

พอครูบาศรีวิชัยไป "นั่งหนัก" 
ที่งานไหนประชาชนจะหลั่งไหลมา
ทำบุญที่นั่นถึงวันละ 200-300 ราย

ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ
ก็จะมีงานปอยหลวง หรืองาน
ฉลองซึ่งบางแห่ง มีงานฉลอง
ถึงสิบห้าวัน ในช่วงเวลาดังกล่าว
ก็มักจะมีคนมาทำบุญกับครูบาฯ
มากกว่าปกติ

เมื่อเสร็จงานปอยหลวงในที่หนึ่งแล้ว
ครูบาฯ และศิษย์ก็จะย้ายไปก่อสร้าง
ที่อื่นๆ ตามที่มีผู้มานิมนต์ไว้

โดยท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใด
จากแหล่งก่อนไปด้วยเลย.!

การที่ต้อง "นั่งหนัก"อยู่ตลอด
ทั้งวันทำให้ท่านอาพาธด้วย

"โรคริดสีดวงทวารเรื้อรัง "

ตั้งแต่ครั้งที่ไปตระเวนก่อสร้าง
บูรณะวัดในเขตล้านนา และการ
อาพาธได้กำเริบขณะที่กำลังมี
การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง 

ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพ
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481
ที่วัดบ้านปางขณะมีอายุได้ 60 ปี
9 เดือน 11 วัน





เมื่องานพระราชทานเพลิงศพ
เสร็จสิ้น จึงได้มีการแบ่งอัฐิของ
ท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่างๆ เช่น

วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง
วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
วัดน้ำออกรู จังหวัดแม่ฮ่องสอน

และที่ วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน
อันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน

วลาร้อยปีนานเพียงพอที่จะลบชื่อ
คนธรรมดาคนหนึ่ง ให้สูญหายจาก
โลกนี้ได้ไม่ยาก

แต่ "ครูบาศรีวิชัย" ชื่อนี้ไม่เคยถูก
ลบเลือนแต่ถูกจดจำ และจารึกไว้
เป็นตำนานหน้าสำคัญของประวัติ
ศาสตร์พระพุทธศาสนาบนแผ่นดิน
ล้านนานิรันดร์.!


ติดตามบทความย้อนหลัง

Click บทนำ ครูบาศรีวิชัย อำนาจ หวาดระแวง แรงศรัทธา และบุญญาบารมี      
Click ตอนที่ 1 ครูบาศรีวิชัย กำเนิดพระนักสู้ ต๋นบุญแห่งล้านนา
Click ตอนที่ 2 ครูบาศรีวิชัย ประเคนข้อหา กบฏแผ่นดิน
Click > ตอนที่ 3 ครูบาศรีวิชัย อาตมาขอตายในผ้าเหลือง
Click > ตอนจบ  ครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนา ศรัทธานิรันดร์

เรียบเรียงโดย คนธรรมรำพัน

ขอบคุณภาพประกอบ
ประวัติครูบาศรีวิชัย
โดยพระครูบุญญาภินันท์ 
(บุญชู  จันทสิริ)
google.com
เวปไซต์ วัดบ้านปาง
MGR online


มหาเถรผู้ยิ่งใหญ่
>hidden--point.blogspot.com

ครูบาศรีวิชัย ! นักบุญแห่งล้านนา ศรัทธานิรันดร์ : ตอนจบ ครูบาศรีวิชัย ! นักบุญแห่งล้านนา ศรัทธานิรันดร์ : ตอนจบ Reviewed by สารธรรม on 07:26 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.